วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พิณเปี๊ยะ...การเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน



กนกรัชต์ สายทอง  (เจ้าของบล็อค)

รูปพิณเปี๊ยะ ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕

"หัดเปี๊ยะ ๓ ปี๋ หัดปี่ ๓ เดือน" เป็นคำเปรียบเปรยของช่างดนตรีทางล้านนาเมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่าพิณเปี๊ยะ หลายร้อยปีมาแล้วที่เสียงพิณเปี๊ยะ ขับขานอยู่บนแผ่นดินล้านนา ความไพเราะเพราะพริ้ง อยู่ที่เสียงเบาๆแต่ทว่าก้องกังวาล ประหนึ่งเป็นดนตรีสวรรค์โดยไม่ต้องมีดนตรีอื่นมาประกอบ ไม่ต้องมีเสียงนักร้องขับขาน จงใจให้ผู้ฟังได้ดื่มด่ำมีความสุขกับเสียงของพิณล้วนๆ
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม หรือที่รู้จักกันในนาม ครูบอย ท่านเป็นศิลปินล้านนาที่สำคัญบุคคลหนึ่ง เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์หัวพิณเปี๊ยะใหม่คนต้นๆของล้านนา อีกทั้งยังทำอัลบั้มเพลงบรรเลงพิณเปี๊ยะ ในนามวงลายเมือง ครูบอยได้เล่าถึงประวัติพิณเปี๊ยะ ที่มีความสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการดนตรีวิทยา กล่าวคือ
ชาวล้านนาสมัยก่อนเรียก พิณเปี๊ยะ สั้น ๆ ว่า "เปี๊ยะ" ในภาษาเหนือแปลว่า อวด หรือ เทียบเชิง คนที่เล่นเปี๊ยะได้จะดูโก้เก๋มากกว่าคนที่เล่นดนตรีพื้น ๆ อย่าง สะล้อซอซึง เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงเหมือนเล่นอวดกัน เป็นการเล่นประชันขันแข่ง จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า ชื่อ "พิณเปี๊ยะ" หรือ "เปี๊ยะ" อาจจะมีที่มาด้วยเหตุนี้ก็ได้  
          ส่วนใครเป็นคนคิด ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพิณเปี๊ยะพัฒนามาจากพิณน้ำเต้าที่พวกพราหมณ์เป็นผู้ทำขึ้นเล่นก่อน เพื่อประกอบการสวดโองการอ่านภควคีตา ต่อมาพราหมณ์ได้เผยแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ดนตรีชนิดนี้จึงติดตามเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐฉานของประเทศพม่า ประเทศเขมร ภาคเหนือตอนบนของไทย ภาคอีสานใต้ของไทย แม้กระทั่งในกรุงศรีอยุธยาเองมีหลักฐานยืนยันว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะมาก่อน
ช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะในแถบภาคกลางและภาคอีสานอีกเลย แต่ยังคงเล่นอย่างแพร่หลายในภาคเหนือมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตของสังคมเกษตรกรรมในชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พิณเปี๊ยะเริ่มหายไปเพราะไม่ค่อยมีใครหัดหรือทำขึ้นมาเล่นอีก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเอกชาวเชียงราย ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศเดนมาร์ก และได้ฟังดนตรี ที่มีเสียงไพเราะ จึงสอบถามว่า เสียงดนตรีที่ได้ยินนั้น มาจากเครื่องดนตรีชนิดใด ของชาติใดคำตอบที่ได้รับกลับมาทำเอา ถวัลย์แทบล้มทั้งยืน ก็เครื่องดนตรีที่เรียกว่า พิณเปี๊ยะ จากประเทศคุณนั่นล่ะ ไม่รู้จักหรือ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย

จึงเริ่มการเสาะหาติดตาม และได้พบกับ พ่ออุ้ยแปง โนจา วัย ๘๐ ปี ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนั้นหันไปประกอบอาชีพจักสานประทังชีวิตและเลิกเล่นพิณเปี๊ยะมากว่า ๔๐ ปีแล้ว พิณเปี๊ยะอันสุดท้ายถูกถอดด้ามไปทำมีด ส่วนหัวเปี๊ยะสูญหายไปนานแล้ว ด้วยการสนับสนุนของถวัลย์ ดัชนี และธีรยุทธ ยวงศรี อาจารย์วิทยาลัยครูเชียงราย พ่ออุ๊ยแปง โนจา จึงเริ่มฟื้นฟูฝีมือพร้อม ๆ กับสร้างพิณเปี๊ยะตัวใหม่ขึ้นมาจากความทรงจำของท่าน
ต่อมาในปี ๒๕๒๒ ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ ได้พบกับพ่ออุ้ยแปง โนจา ศิลปินพิณเปี๊ยะจากเชียงราย ทำให้เรื่องราวที่เป็นปริศนาของพิณเปี๊ยะกระจ่างขึ้น หลังจากนั้นนักวิชาการอีกหลายคนที่สนใจพิณเปี๊ยะ ก็ได้พบกับนักดนตรีพิณเปี๊ยะในยุคเก่าเพิ่มขึ้น อาทิ พ่ออุ้ยวัน ถาเกิด จังหวัดเชียงใหม่, พ่อบุญมา แก้วปินใจ, พ่ออ้าย แปงแสน, พ่อมูล มอญแก้ว, พ่อแก้ว แปงแก้ว จังหวัดลำปาง และพ่อใจ๋ บุญมาติ ผู้มีฉายาว่า "ใจ๋ เปี๊ยะหลับ" เพราะขยันซ้อม เล่นเปี๊ยะจนเพลียหลับไปทั้งที่เปี๊ยะยังวางคาอก  
การค้นพบนักดนตรีพิณเปี๊ยะในช่วงนั้นไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก จนมาถึงปี ๒๕๓๐ หลังจากที่จรัล มโณเพชร ได้รู้จักพ่ออุ้ยบุญมา ไชยมะโน และศิลปินพิณเปี๊ยะคนอื่น ๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเผยแพร่เครื่องดนตรีที่กำลังจะสูญหายให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจและร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้
      วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๐ จรัล มโนเพ็ชร พาพ่ออุ้ยแปง โนจา อุ้ยบุญมา ไชยมะโน อุ้ยวัน ถาเกิด แสดงร่วมกันในคอนเสิร์ต "แด่คนช่างฝัน" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอนเสิร์ต "ม่านไหมใยหมอก" ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ณ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องราวของพิณเปี๊ยะจึงดังกระหึ่มขึ้นมาในช่วงนั้น
กล่าวได้ว่า จรัล มโนเพ็ชร มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน และเผยแพร่พิณเปี๊ยะให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้สำเร็จ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาอีกหลายคนช่วยกันสนับสนุนอย่างสุดแรง
หลังจากป้ออุ้ยแปง นวลจา ได้เสียชีวิตแล้ว ความสนใจเกี่ยวกับพิณเปี๊ยะก็ซาลงไป เนื่องมาจากคงเหลือคนที่เล่นพิณเปี๊ยะได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และบุคคลเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทอดทิ้งการเล่นไปนาน จะมีก็แต่พ่ออุ้ยบุญมา ไชยมะโน เท่านั้นที่ยังเล่นได้อย่างแม่นยำ สามารถถ่ายทอดท่วงทำนอง ลีลาจังหวะอันไพเราะของพิณเปี๊ยะ ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ ยังมีโอกาสได้รู้จักดนตรีชนิดนี้ 
ครูบอยวิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม ขณะบรรเลงพิณเปี๊ยะ ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕

ครูบอยได้บอกกับเราว่า สาเหตุที่พิณเปี๊ยะนั้น ได้หายไปจากล้านนาอยู่ช่วงหนึ่ง อาจจะเนื่องมาจากการที่เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะกลุ่ม คือ เสียงเบา เล่นยาก การสืบทอดก็ยาก เช่น การหล่อหัวเปี๊ยะ จะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญ แต่เนื่องจากช่างหล่อรุ่นเก่าๆก็ไม่มีแล้ว  การจะสืบทอดกันได้ก็คงจะมีเฉพาะการสืบทอดเฉพาะกลุ่มกันรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือ เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่นิยมนำมารวมเล่นเป็นวง จึงไม่มีพื้นที่ให้เปี๊ยะอยู่ จึงทำให้พิณเปี๊ยะค่อยๆหายไป

               จุดเริ่มต้นของการทำหัวพิณเปี๊ยะขึ้นมาใหม่นั้น เริ่มมาจากความต้องการอยากมีเปี๊ยะดีดีเป็นของตัวเอง แต่มันไม่มีขาย จึงเริ่มจากการซื้อของเก่ามาทำ แต่ของเก่าก็มีการชำรุดบ้าง สูญหายบ้าง แบ่งให้คนอื่นบ้าง ดังนั้นจึงสร้างหัวใหม่ขึ้นมาทดแทน อีกทั้งช่วงหลังมีคนสนใจที่จะเล่นมากขึ้น แต่เครื่องดนตรีก็ไม่เพียงพอที่จะเล่น จึงคิดว่าทำขึ้นมาใหม่ดีกว่า ไม่เฉพาะแค่หัวเปี๊ยะเท่านั้น แต่ทำขึ้นมาทั้งตัวเครื่องดนตรี  ในการทำนั้น แต่ละส่วนจะแยกกันทำคนละที่แล้วนำมาประกอบที่บ้านของครูบอย ยกตัวอย่างเช่น หัว ก็จะให้ร้านจิวเวอร์รี่ทำการหล่อ ซึ่งทั้งหมดครูเป็นคนออกแบบเอง




หัวพิณเปี๊ยะเก่าที่ทำจากสำริดทั้งหมด ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕




ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับหัวพิณเปี๊ยะ คือหัวเปี๊ยะแบบเก่านั้นจะป็นสำริดทั้งหมดหมด ในอดีตผู้ที่จะทำหัวเปี๊ยะด้วยสำริดได้ จะต้องเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร เนื่องจากมีราคาแพง ดังนั้นนี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปี๊ยะถูกหลงลืมไป

เมื่อกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพ พิณเปี๊ยะมีลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าแต่พิณเปี๊ยะทำเพิ่มขึ้นเป็นหลายสาย มีตั้งแต่ ๑ สายไปจนถึง ๗ สายเลยก็มี แต่ที่นิยมเล่นกันมากที่สุด จะเป็นพิณเปี๊ยะ ๔ สาย คันทวนของพิณเปี๊ยะยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ลูกบิดก็ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ใช้เชือกคล้องสายผูกโยงไว้กับทวนสำหรับเร่งเสียงเหมือนกับพิณน้ำเต้า กะโหลกก็ทำด้วยเปลือกลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มีเวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอก ขยับเปิดปิดเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการเช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า

การจะบรรเลงพิณเปี๊ยะให้ได้ดีนั้นต้อง ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมากผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน การดีดก็ใช่ว่าจะธรรมดา ต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก" เพื่อให้เกิดเสียงคม ใส ดังก้องกังวานนานกว่าเสียงธรรมดา ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วยคือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก" จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ แล้วไหลผ่านตามสายมายังกล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียงไปสะท้อนกับแผ่นอก แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้ด้วยมือซ้ายเพียงมือเดียว เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง เสียงลักษณะนี้เราจะไม่พบในเครื่องดนตรีอื่นเลย หลายคนยอมรับว่า เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก มิใช่ว่าจะเล่นได้ทุกคน แม้จะพยายามฝึกหัดแล้วก็ตาม

ความอัศจรรย์ของเปี๊ยะเกี่ยวกับวิธีการเล่น ที่ผู้เล่น ต้องเปลือยกายท่อนบน แล้วใช้กล่องเสียงแนบกับหน้าอกเพื่อใช้กล้ามเนื้อบังคับเสียงให้ไพเราะ พิณเปี๊ยะ จึงอาจกล่าวได้ว่า เพลงที่บรรเลงโดยพิณเปี๊ยะ เป็นเพลงที่บรรเลงออกมาจากใจโดยแท้จริง

พิณเปี๊ยะ เครื่องดนตรีที่มีชีวิต เส้นเอ็นแต่ละเส้นเปรียบเสมือนสายชีวิต ครั่งที่ใช้เป็นตัวประสานระหว่างไม้กับหัวเปี๊ยะก็คือการหลั่งเลือดเนื้อ การเดินทางของพิณเปี๊ยะจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ครูบอยถือได้ว่าเป็นทั้งนักดนตรี และช่างชาวล้านนาคนต้นๆ ในยุคปัจจุบัน ที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่เสน่ห์ของพิณเปี๊ยะ ให้ทั้งเยาวชนและคนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การคงอยู่ของพิณเปี๊ยะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการให้ความสนใจ และความตั้งใจเล่นเครื่องดนตรีของตัวประชาชนเอง เพราะครูบอยเป็นเพียงผู้ที่นำมาเผยแพร่เท่านั้น อนาคตของพิณเปี๊ยะจะเป็นอย่างไร ดำเนินต่อไปหรือหลับใหลอีกครั้ง ทั้งนี้อยู่ที่ชาวล้านนาเป็นผู้เลือกเอง



บรรณานุกรม


กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ. (2552). พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย.

จาก http://proshot4u.blogspot.com/2009/08/blog-post_18.html, สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

เกษร สิทธิหนิ้ว. (2552). บุญมา ไชยมะโน ศิลปินพิณเปี๊ยะผู้เดินทางมาจากโลกเก่า.

จาก http://www.lannafolk.com/main/content.php?page=product&category=13&id=35,

สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

ชมรมดนตรีล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2553). พ่ออุ้ยแปง โนจา พ่อครูพิณเปี๊ยะ.

จาก http://www.pooyajaonai.com/board/viewthread.php?tid=227, สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

วิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม. (31 มกราคม 2555). ศิลปินวงลายเมือง. สัมภาษณ์โดย กนกรัชต์ สายทอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น