วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เสวนา “นาฏคีตา ล้านนา”



               
                การเสวนานาฏคีตา ล้านนา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 การเสวนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับฟังการเสวนาในช่วงเช้า ซึ่งมีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ 2 หัวข้อด้วยกัน
                หัวข้อแรกคือ สืบฮีตตวยฮอย คีตการล้านนา เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะดนตรีของล้านนา ซึ่งถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ 3 มุมมอง จากประสบการณ์การทำงานของอาจารย์ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน ประกอบด้วยการพูดถึงด้านการดนตรีและการแสดง, การสร้างสรรค์สืบทอด และจากประสบการณ์ในสถาบันการศึกษาโดยผนวกเข้ากับภูมิปัญหาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบันในด้านการรับสารจากองค์ความรู้เดิม
ในอดีตนั้น ดนตรีและการฟ้อนรำพื้นเมืองล้านนามีการเคลื่อนไหวไม่มากนักจนถึงขั้นแถบจะหยุดอยู่กับที่ แต่ในเวลาต่อมา เมื่อถูกบรรจุเข้าในระบบการศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ การเคลื่อนไหวก็พัฒนาขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นการที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการสร้างสรรค์ พัฒนา ดนตรี ในรูปแบบใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นล้านนา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะนั้นมีความหลากหลายและสามารถเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา สิ่งท้าทายสำคัญที่ทำให้ดนตรี ศิลปะล้านนา เกิดความเปลี่ยนแปลงไปก็คือ อิทธิผลของทุนนิยม ซึ่งเข้าไปแทรกแซงความเชื่อ ค่านิยม ใช้อำนาจการเงินเข้าไปตีค่า พ่วงท้ายด้วยเงื่อนไขต่อรองบนความอยากที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ศิลปะล้านนาเปลี่ยนแปลงไป เช่น การดัดแปลงชุดที่ใช้แสดง เปลี่ยนไปตามความพอใจ เปลี่ยนไปตามความนิยม จนทำให้ความงามของศิลปะล้านนา และความเป็นอัตลักษณ์ของล้านนาเริ่มหายไป
ณ ตอนนี้ หากคนล้านนาเริ่มรู้และตระหนักได้ว่า ความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ที่แสดงให้รู้ว่ามาจากล้านนา เป็นของล้านนา เริ่มหายไป ดังนั้นควรร่วมมือกันในการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ ความสวยงามของดนตรี ของศิลปะล้านนา ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือหน่วยงานต่างๆ ก็คงจะมีพลังและสร้างบรรยากาศเดิมๆให้ฟื้นกลับขึ้นมา ล้านนาเองก็คงจะมีเอกภาพและภูมิใจในศักดิ์ศรีของผู้มีวัฒนธรรม
                หัวข้อที่สองคือ กระแสและทิศทางของดนตรีล้านนาร่วมสมัย เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดนตรีล้านนา สาเหตุและปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง


ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องนานาชาตินิยม เพราะฉะนั้นดนตรีล้านนาจึงต้องแสดงเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเองในสังคมร่วมสมัย มีการนำเสนอรูปแบบของดนตรีล้านนาร่วมสมัยเป็น 4 แบบคือ
1.       ดนตรีท้องถิ่นที่มีอิทธิพลเหนือดนตรีตะวันตก
2.       ดนตรีตะวันตกที่มีอิทธิพลเหนือดนตรีท้องถิ่น
3.       ดนตรีที่พัฒนาตนเองขึ้นมา
4.       ดนตรีที่ทดลองร่วมกับดนตรีอื่นๆนอกเหนือจากตะวันตก
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ดนตรีล้านนาเปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นเพราะต้องการเอาตัวรอด ไม่เช่นนั้นเราอาจจะพบเห็นดนตรีล้านนาเหลืออยู่เพียงที่วัด หอศิลป์ เป็นต้น ดังนั้นการที่ดนตรีมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเป็นเรื่องธรรมดา และดนตรีในปัจจุบันก็ร่วมสมัยปัจจุบันเช่นกัน
                จากหัวข้อการเสวนาทั้งสอง จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน คือเป็นการเล่าเส้นทางชีวิตของดนตรีล้านนามาจนถึงยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องร่วมหาทางรักษาเอาไว้ ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจถึงตัวตนของสิ่งเหล่านั้นก่อนว่าแก่นแท้ของมันคืออะไร เมื่อเวลาเปลี่ยนไปถึงแม้องค์ประกอบอื่นๆจะเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับความนิยม หรือเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หากเราสามารถเข้าใจและรักษาแก่นของมันไว้ได้ ความเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นก็จะยังคงอยู่ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน รูปแบบดนตรีอาจะเปลี่ยนไปบ้าง เครื่องดนตรีอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เพื่อให้ดนตรีล้านนายังอยู่เราคงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และพยายามรักษาแก่นแท้ที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีล้านนาเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อที่ดนตรีล้านนาจะได้แสดงให้ลูกหลานของเราในอนาคตได้เห็นตัวเอง ไม่ใช่สามารถเห็นได้แค่จากในหนังสือ หรือหอศิลป์เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น