วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลโอบ้ง

          ช่วงนี้ก็ปลายเดือนกรกฎาคมแล้ว อีกไม่กี่วันก็จะเข้าเดือนสิงหาคม ผ่านไปแป็บเดียวเวลาก็ผ่านไปเกินครึ่งปีแล้ว เวลานี่ช่างเดินเร็วจริงๆ
          ในชีวิตของผู้เขียนนั้น มีความตั้งใจว่าครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องเดินทางไปสัมผัสชีวิต ความเป็นอยู่ของคนแดนอาทิตย์อุทัยซักครั้ง แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยไปซักที ด้วยกำลังทรัพย์นี่แหละ สำคัญเลย! ฮ่าๆๆ ตอนนี้ก็จะเข้าเดือนสิงหาคมแล้ว มาดูกันดีกว่าว่าในเดือนนี้ที่ญี่ปุ่นมีเทศกาลอะไรที่น่าสนใจบ้าง
เทศกาลโอบ้ง

         จัดทุกวันที่ 13-16 เดือนสิงหาคมของทุกปี ชาวญี่ปุ่นเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงนี้ เพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพและเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เพราะเชื่อกันว่าดวงวิญญาณคนตายจะกลับลงมาเยี่ยมโลกตามบ้านเรือน จึงมีการจุดตะเกียงหรือคบเพลิงเพื่อส่องนำทางดวงวิญญาณให้กลับบ้านถูก ในเทศกาลมีการร่ายรำพื้นบ้านโบราณบงโอโดริ(Bon Odori)อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยชาวญี่ปุ่นจะสวมยูกาตะ และต้องสวมถุงเท้าที่เรียกว่า“Zori” และรองเท้าเกี๊ยะ ที่เรียก “Geta”เท่านั้น ถึงจะถูกต้องประเพณี ในวันที่ 13-15 สิงหาคม ก็มีการจัดพิธีกรรมเพื่อบูชาบรรพบุรุษ โดยการจุดไฟต้อนรับที่หน้าประตูบ้าน และถวายผักหน้าแท่นบูชา เอาปักไว้บนตะเกียบ แล้วในตอนเย็นของวันที่ 15 ก็มีการส่งวิญญาณบรรพบุรุษด้วยการจุดไฟที่ เรียกว่า โทโรนางาชิ เป็นโคมกระดาษมีเทียนจุดไฟอยู่ภายใน แล้วนำไปลอยในแม่น้ำ เพื่อนำทางให้วิญญาณบรรพบุรุษลอยออกสู่ทะเล แต่พิธีการลอยโคมไฟของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป

        นอกจากนี้ในวันที่16 เวลา 20.00น. หรือตอน2 ทุ่ม มีการจุดไฟอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า โอคุริบิ ก็เป็นการนำทางวิญญาณบรรพบุรุษหลังจากมาเยี่ยมลูกหลานเสร็จแล้วนั่นแหละ ไฟที่จุดนี้มีชื่อเฉพาะอีกด้วยไฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ไดมนจิ เป็นไฟรูปตัวอักษรภาษาจีนขนาดใหญ่ อ่านว่า ได(Dai) แปลว่า ใหญ่ ไฟนี้จะเริ่มจุดที่ภูเขาเนียวอิงาตาเคะ(Nyoigatake)ในเมืองเกียวโต แสงไฟสว่างไสวเชียว ส่วนบนเขาลูกอื่นก็มีตัวอักษรอื่นๆ เทศกาลนี้ถือเป็นช่วงวันหยุดที่ติดต่อกันยาวเทศกาลหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นย่านสำนักงานในกรุงโตเกียวหรือร้านค้าต่างๆก็จะหยุดงาน เพื่อให้พนักงานเดินทางกลับบ้านเกิดไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันตามประเพณี


         ใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวก็ขอให้เที่ยวแบบสมนุกๆนะคะ เที่ยวเผื่อด้วยนะคะ ส่วนผู้เขียนขอตัวไปเก็บเงินอีกนานนน ^^

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การแสดงดนตรีและนาฏลักษณ์ลีลา บนลานพฤกษา


การแสดงดนตรีและนาฏลักษณ์ลีลา บนลานพฤกษา จัดขึ้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจาก การเสวนานาฏคีตา ล้านนา ซึ่งจัดในช่วงเวลากลางวันของวันเดียวกัน
                งานที่จัดขึ้นครั้งนี้ประกอบไปด้วยการแสดงของวงดนตรีล้านนา และล้านนาร่วมสมัยหลากลายวง รวมไปถึงการแสดงนาฏลักษณ์ลีลาด้วย ถือได้ว่าเป็นงานที่จัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของดนตรีและศิลปะล้านนาได้อย่างดี
                ในการแสดงของวงดนตรี ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังวงดนตรีวงหนึ่งที่เครื่องดนตรีเป็นของตะวันตกเกือบทั้งวง มีเพียงขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องชิ้นเดียวที่เป็นเครื่องดนตรีของไทย วงที่ผู้เขียนได้เกริ่นมาข้างต้น คือ วงทิพย์ มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่

่มีมและแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของดนตรีและศิลปะล้านนาได้อย่างดี

                เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงของวงทิพย์นั้น ประกอบด้วย ไวโอลิน, เชลโล่, คีย์บอร์ด, กลอง และขลุ่ย นำมารวมกันบรรเลงออกมาเป็นเพลงล้านนาร่วมสมัย เมื่อกล่าวถึงคำว่าล้านนาร่วมสมัย ก็เกิดคำถามขึ้นว่าจะเป็นล้านนาร่วมสมัยได้อย่างไรในเมื่อไม่มีเครื่องดนตรีของล้านนาเลย ในครั้งแรกผู้เขียนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่าจะเป็นวงดนตรีล้านนาร่วมสมัยได้อย่างไร จนเมื่ออาจารย์โจ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในวงทิพย์ ได้พูดว่า คำจำกัดความของคำว่าล้านนาอยู่ตรงไหน กล่าวคือ หากลองเปรียบเทียบเป็นคน ก็เหมือนคนล้านนาถ้าไม่ใช่ชุดพื้นเมืองยังจะเป็นคนล้านนาอยู่หรือไม่ หรือคนที่ใส่ชุดล้านนาเป็นคนล้านนาจริงๆหรือ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นวงทิพย์จึงเลือกใช้เครื่องดนตรีที่ไม่ใช่ล้านนาเลย แต่สามารถบรรเลงบทเพลงที่สามารถถ่ายทอดให้ผู้ที่ได้รับฟัง รู้สึกถึงกลิ่นอายของความเป็นล้านนาที่ออกมาจากเสียงของเครื่องดนตรีต่างถิ่นได้อย่างดี
                ในมุมมองของผู้เขียนเอง เห็นด้วยว่า เราไม่สามารถตัดสินความเป็นตัวตนของใคร หรือวัฒนธรรมของชนใดว่าดีหรือไม่ดี ว่าควรหรือไม่ควร เพียงเพราะไม่มีสัญลักษณ์ที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือการที่ไม่ได้อยู่ในกรอบคำจำกัดความที่ใครก็ไม่รู้สร้างขึ้นมาว่า ถ้าเป็นคนล้านนาจะต้องเป็นแบบนี้หรือแบบไหนๆ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีความนิยมและเสื่อมถอยเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ให้เข้าใจถึงความเป็นตัวตน และเมื่อเข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะใช้เครื่องดนตรีใดเล่น หากเล่นด้วยหัวใจที่เข้าใจความเป็นล้านนา ก็สามารถบรรเลงเพลงที่แสดงความเป็นล้านนาได้ เช่นเดียวกับวงทิพย์นั่นเอง


เสวนา “นาฏคีตา ล้านนา”



               
                การเสวนานาฏคีตา ล้านนา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 การเสวนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับฟังการเสวนาในช่วงเช้า ซึ่งมีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ 2 หัวข้อด้วยกัน
                หัวข้อแรกคือ สืบฮีตตวยฮอย คีตการล้านนา เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะดนตรีของล้านนา ซึ่งถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ 3 มุมมอง จากประสบการณ์การทำงานของอาจารย์ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน ประกอบด้วยการพูดถึงด้านการดนตรีและการแสดง, การสร้างสรรค์สืบทอด และจากประสบการณ์ในสถาบันการศึกษาโดยผนวกเข้ากับภูมิปัญหาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบันในด้านการรับสารจากองค์ความรู้เดิม
ในอดีตนั้น ดนตรีและการฟ้อนรำพื้นเมืองล้านนามีการเคลื่อนไหวไม่มากนักจนถึงขั้นแถบจะหยุดอยู่กับที่ แต่ในเวลาต่อมา เมื่อถูกบรรจุเข้าในระบบการศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ การเคลื่อนไหวก็พัฒนาขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นการที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการสร้างสรรค์ พัฒนา ดนตรี ในรูปแบบใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นล้านนา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะนั้นมีความหลากหลายและสามารถเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา สิ่งท้าทายสำคัญที่ทำให้ดนตรี ศิลปะล้านนา เกิดความเปลี่ยนแปลงไปก็คือ อิทธิผลของทุนนิยม ซึ่งเข้าไปแทรกแซงความเชื่อ ค่านิยม ใช้อำนาจการเงินเข้าไปตีค่า พ่วงท้ายด้วยเงื่อนไขต่อรองบนความอยากที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ศิลปะล้านนาเปลี่ยนแปลงไป เช่น การดัดแปลงชุดที่ใช้แสดง เปลี่ยนไปตามความพอใจ เปลี่ยนไปตามความนิยม จนทำให้ความงามของศิลปะล้านนา และความเป็นอัตลักษณ์ของล้านนาเริ่มหายไป
ณ ตอนนี้ หากคนล้านนาเริ่มรู้และตระหนักได้ว่า ความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ที่แสดงให้รู้ว่ามาจากล้านนา เป็นของล้านนา เริ่มหายไป ดังนั้นควรร่วมมือกันในการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ ความสวยงามของดนตรี ของศิลปะล้านนา ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือหน่วยงานต่างๆ ก็คงจะมีพลังและสร้างบรรยากาศเดิมๆให้ฟื้นกลับขึ้นมา ล้านนาเองก็คงจะมีเอกภาพและภูมิใจในศักดิ์ศรีของผู้มีวัฒนธรรม
                หัวข้อที่สองคือ กระแสและทิศทางของดนตรีล้านนาร่วมสมัย เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดนตรีล้านนา สาเหตุและปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง


ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องนานาชาตินิยม เพราะฉะนั้นดนตรีล้านนาจึงต้องแสดงเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเองในสังคมร่วมสมัย มีการนำเสนอรูปแบบของดนตรีล้านนาร่วมสมัยเป็น 4 แบบคือ
1.       ดนตรีท้องถิ่นที่มีอิทธิพลเหนือดนตรีตะวันตก
2.       ดนตรีตะวันตกที่มีอิทธิพลเหนือดนตรีท้องถิ่น
3.       ดนตรีที่พัฒนาตนเองขึ้นมา
4.       ดนตรีที่ทดลองร่วมกับดนตรีอื่นๆนอกเหนือจากตะวันตก
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ดนตรีล้านนาเปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นเพราะต้องการเอาตัวรอด ไม่เช่นนั้นเราอาจจะพบเห็นดนตรีล้านนาเหลืออยู่เพียงที่วัด หอศิลป์ เป็นต้น ดังนั้นการที่ดนตรีมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเป็นเรื่องธรรมดา และดนตรีในปัจจุบันก็ร่วมสมัยปัจจุบันเช่นกัน
                จากหัวข้อการเสวนาทั้งสอง จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน คือเป็นการเล่าเส้นทางชีวิตของดนตรีล้านนามาจนถึงยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องร่วมหาทางรักษาเอาไว้ ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจถึงตัวตนของสิ่งเหล่านั้นก่อนว่าแก่นแท้ของมันคืออะไร เมื่อเวลาเปลี่ยนไปถึงแม้องค์ประกอบอื่นๆจะเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับความนิยม หรือเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หากเราสามารถเข้าใจและรักษาแก่นของมันไว้ได้ ความเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นก็จะยังคงอยู่ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน รูปแบบดนตรีอาจะเปลี่ยนไปบ้าง เครื่องดนตรีอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เพื่อให้ดนตรีล้านนายังอยู่เราคงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และพยายามรักษาแก่นแท้ที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีล้านนาเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อที่ดนตรีล้านนาจะได้แสดงให้ลูกหลานของเราในอนาคตได้เห็นตัวเอง ไม่ใช่สามารถเห็นได้แค่จากในหนังสือ หรือหอศิลป์เท่านั้น

พิณเปี๊ยะ...การเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน



กนกรัชต์ สายทอง  (เจ้าของบล็อค)

รูปพิณเปี๊ยะ ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕

"หัดเปี๊ยะ ๓ ปี๋ หัดปี่ ๓ เดือน" เป็นคำเปรียบเปรยของช่างดนตรีทางล้านนาเมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่าพิณเปี๊ยะ หลายร้อยปีมาแล้วที่เสียงพิณเปี๊ยะ ขับขานอยู่บนแผ่นดินล้านนา ความไพเราะเพราะพริ้ง อยู่ที่เสียงเบาๆแต่ทว่าก้องกังวาล ประหนึ่งเป็นดนตรีสวรรค์โดยไม่ต้องมีดนตรีอื่นมาประกอบ ไม่ต้องมีเสียงนักร้องขับขาน จงใจให้ผู้ฟังได้ดื่มด่ำมีความสุขกับเสียงของพิณล้วนๆ
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม หรือที่รู้จักกันในนาม ครูบอย ท่านเป็นศิลปินล้านนาที่สำคัญบุคคลหนึ่ง เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์หัวพิณเปี๊ยะใหม่คนต้นๆของล้านนา อีกทั้งยังทำอัลบั้มเพลงบรรเลงพิณเปี๊ยะ ในนามวงลายเมือง ครูบอยได้เล่าถึงประวัติพิณเปี๊ยะ ที่มีความสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการดนตรีวิทยา กล่าวคือ
ชาวล้านนาสมัยก่อนเรียก พิณเปี๊ยะ สั้น ๆ ว่า "เปี๊ยะ" ในภาษาเหนือแปลว่า อวด หรือ เทียบเชิง คนที่เล่นเปี๊ยะได้จะดูโก้เก๋มากกว่าคนที่เล่นดนตรีพื้น ๆ อย่าง สะล้อซอซึง เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงเหมือนเล่นอวดกัน เป็นการเล่นประชันขันแข่ง จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า ชื่อ "พิณเปี๊ยะ" หรือ "เปี๊ยะ" อาจจะมีที่มาด้วยเหตุนี้ก็ได้  
          ส่วนใครเป็นคนคิด ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพิณเปี๊ยะพัฒนามาจากพิณน้ำเต้าที่พวกพราหมณ์เป็นผู้ทำขึ้นเล่นก่อน เพื่อประกอบการสวดโองการอ่านภควคีตา ต่อมาพราหมณ์ได้เผยแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ดนตรีชนิดนี้จึงติดตามเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐฉานของประเทศพม่า ประเทศเขมร ภาคเหนือตอนบนของไทย ภาคอีสานใต้ของไทย แม้กระทั่งในกรุงศรีอยุธยาเองมีหลักฐานยืนยันว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะมาก่อน
ช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะในแถบภาคกลางและภาคอีสานอีกเลย แต่ยังคงเล่นอย่างแพร่หลายในภาคเหนือมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตของสังคมเกษตรกรรมในชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พิณเปี๊ยะเริ่มหายไปเพราะไม่ค่อยมีใครหัดหรือทำขึ้นมาเล่นอีก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเอกชาวเชียงราย ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศเดนมาร์ก และได้ฟังดนตรี ที่มีเสียงไพเราะ จึงสอบถามว่า เสียงดนตรีที่ได้ยินนั้น มาจากเครื่องดนตรีชนิดใด ของชาติใดคำตอบที่ได้รับกลับมาทำเอา ถวัลย์แทบล้มทั้งยืน ก็เครื่องดนตรีที่เรียกว่า พิณเปี๊ยะ จากประเทศคุณนั่นล่ะ ไม่รู้จักหรือ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย

จึงเริ่มการเสาะหาติดตาม และได้พบกับ พ่ออุ้ยแปง โนจา วัย ๘๐ ปี ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนั้นหันไปประกอบอาชีพจักสานประทังชีวิตและเลิกเล่นพิณเปี๊ยะมากว่า ๔๐ ปีแล้ว พิณเปี๊ยะอันสุดท้ายถูกถอดด้ามไปทำมีด ส่วนหัวเปี๊ยะสูญหายไปนานแล้ว ด้วยการสนับสนุนของถวัลย์ ดัชนี และธีรยุทธ ยวงศรี อาจารย์วิทยาลัยครูเชียงราย พ่ออุ๊ยแปง โนจา จึงเริ่มฟื้นฟูฝีมือพร้อม ๆ กับสร้างพิณเปี๊ยะตัวใหม่ขึ้นมาจากความทรงจำของท่าน
ต่อมาในปี ๒๕๒๒ ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ ได้พบกับพ่ออุ้ยแปง โนจา ศิลปินพิณเปี๊ยะจากเชียงราย ทำให้เรื่องราวที่เป็นปริศนาของพิณเปี๊ยะกระจ่างขึ้น หลังจากนั้นนักวิชาการอีกหลายคนที่สนใจพิณเปี๊ยะ ก็ได้พบกับนักดนตรีพิณเปี๊ยะในยุคเก่าเพิ่มขึ้น อาทิ พ่ออุ้ยวัน ถาเกิด จังหวัดเชียงใหม่, พ่อบุญมา แก้วปินใจ, พ่ออ้าย แปงแสน, พ่อมูล มอญแก้ว, พ่อแก้ว แปงแก้ว จังหวัดลำปาง และพ่อใจ๋ บุญมาติ ผู้มีฉายาว่า "ใจ๋ เปี๊ยะหลับ" เพราะขยันซ้อม เล่นเปี๊ยะจนเพลียหลับไปทั้งที่เปี๊ยะยังวางคาอก  
การค้นพบนักดนตรีพิณเปี๊ยะในช่วงนั้นไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก จนมาถึงปี ๒๕๓๐ หลังจากที่จรัล มโณเพชร ได้รู้จักพ่ออุ้ยบุญมา ไชยมะโน และศิลปินพิณเปี๊ยะคนอื่น ๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเผยแพร่เครื่องดนตรีที่กำลังจะสูญหายให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจและร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้
      วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๐ จรัล มโนเพ็ชร พาพ่ออุ้ยแปง โนจา อุ้ยบุญมา ไชยมะโน อุ้ยวัน ถาเกิด แสดงร่วมกันในคอนเสิร์ต "แด่คนช่างฝัน" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอนเสิร์ต "ม่านไหมใยหมอก" ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ณ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องราวของพิณเปี๊ยะจึงดังกระหึ่มขึ้นมาในช่วงนั้น
กล่าวได้ว่า จรัล มโนเพ็ชร มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน และเผยแพร่พิณเปี๊ยะให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้สำเร็จ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาอีกหลายคนช่วยกันสนับสนุนอย่างสุดแรง
หลังจากป้ออุ้ยแปง นวลจา ได้เสียชีวิตแล้ว ความสนใจเกี่ยวกับพิณเปี๊ยะก็ซาลงไป เนื่องมาจากคงเหลือคนที่เล่นพิณเปี๊ยะได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และบุคคลเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทอดทิ้งการเล่นไปนาน จะมีก็แต่พ่ออุ้ยบุญมา ไชยมะโน เท่านั้นที่ยังเล่นได้อย่างแม่นยำ สามารถถ่ายทอดท่วงทำนอง ลีลาจังหวะอันไพเราะของพิณเปี๊ยะ ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ ยังมีโอกาสได้รู้จักดนตรีชนิดนี้ 
ครูบอยวิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม ขณะบรรเลงพิณเปี๊ยะ ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕

ครูบอยได้บอกกับเราว่า สาเหตุที่พิณเปี๊ยะนั้น ได้หายไปจากล้านนาอยู่ช่วงหนึ่ง อาจจะเนื่องมาจากการที่เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะกลุ่ม คือ เสียงเบา เล่นยาก การสืบทอดก็ยาก เช่น การหล่อหัวเปี๊ยะ จะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญ แต่เนื่องจากช่างหล่อรุ่นเก่าๆก็ไม่มีแล้ว  การจะสืบทอดกันได้ก็คงจะมีเฉพาะการสืบทอดเฉพาะกลุ่มกันรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือ เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่นิยมนำมารวมเล่นเป็นวง จึงไม่มีพื้นที่ให้เปี๊ยะอยู่ จึงทำให้พิณเปี๊ยะค่อยๆหายไป

               จุดเริ่มต้นของการทำหัวพิณเปี๊ยะขึ้นมาใหม่นั้น เริ่มมาจากความต้องการอยากมีเปี๊ยะดีดีเป็นของตัวเอง แต่มันไม่มีขาย จึงเริ่มจากการซื้อของเก่ามาทำ แต่ของเก่าก็มีการชำรุดบ้าง สูญหายบ้าง แบ่งให้คนอื่นบ้าง ดังนั้นจึงสร้างหัวใหม่ขึ้นมาทดแทน อีกทั้งช่วงหลังมีคนสนใจที่จะเล่นมากขึ้น แต่เครื่องดนตรีก็ไม่เพียงพอที่จะเล่น จึงคิดว่าทำขึ้นมาใหม่ดีกว่า ไม่เฉพาะแค่หัวเปี๊ยะเท่านั้น แต่ทำขึ้นมาทั้งตัวเครื่องดนตรี  ในการทำนั้น แต่ละส่วนจะแยกกันทำคนละที่แล้วนำมาประกอบที่บ้านของครูบอย ยกตัวอย่างเช่น หัว ก็จะให้ร้านจิวเวอร์รี่ทำการหล่อ ซึ่งทั้งหมดครูเป็นคนออกแบบเอง




หัวพิณเปี๊ยะเก่าที่ทำจากสำริดทั้งหมด ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๕๕




ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับหัวพิณเปี๊ยะ คือหัวเปี๊ยะแบบเก่านั้นจะป็นสำริดทั้งหมดหมด ในอดีตผู้ที่จะทำหัวเปี๊ยะด้วยสำริดได้ จะต้องเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร เนื่องจากมีราคาแพง ดังนั้นนี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปี๊ยะถูกหลงลืมไป

เมื่อกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพ พิณเปี๊ยะมีลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าแต่พิณเปี๊ยะทำเพิ่มขึ้นเป็นหลายสาย มีตั้งแต่ ๑ สายไปจนถึง ๗ สายเลยก็มี แต่ที่นิยมเล่นกันมากที่สุด จะเป็นพิณเปี๊ยะ ๔ สาย คันทวนของพิณเปี๊ยะยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ลูกบิดก็ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ใช้เชือกคล้องสายผูกโยงไว้กับทวนสำหรับเร่งเสียงเหมือนกับพิณน้ำเต้า กะโหลกก็ทำด้วยเปลือกลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มีเวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอก ขยับเปิดปิดเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการเช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า

การจะบรรเลงพิณเปี๊ยะให้ได้ดีนั้นต้อง ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมากผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน การดีดก็ใช่ว่าจะธรรมดา ต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก" เพื่อให้เกิดเสียงคม ใส ดังก้องกังวานนานกว่าเสียงธรรมดา ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วยคือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก" จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ แล้วไหลผ่านตามสายมายังกล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียงไปสะท้อนกับแผ่นอก แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้ด้วยมือซ้ายเพียงมือเดียว เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง เสียงลักษณะนี้เราจะไม่พบในเครื่องดนตรีอื่นเลย หลายคนยอมรับว่า เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก มิใช่ว่าจะเล่นได้ทุกคน แม้จะพยายามฝึกหัดแล้วก็ตาม

ความอัศจรรย์ของเปี๊ยะเกี่ยวกับวิธีการเล่น ที่ผู้เล่น ต้องเปลือยกายท่อนบน แล้วใช้กล่องเสียงแนบกับหน้าอกเพื่อใช้กล้ามเนื้อบังคับเสียงให้ไพเราะ พิณเปี๊ยะ จึงอาจกล่าวได้ว่า เพลงที่บรรเลงโดยพิณเปี๊ยะ เป็นเพลงที่บรรเลงออกมาจากใจโดยแท้จริง

พิณเปี๊ยะ เครื่องดนตรีที่มีชีวิต เส้นเอ็นแต่ละเส้นเปรียบเสมือนสายชีวิต ครั่งที่ใช้เป็นตัวประสานระหว่างไม้กับหัวเปี๊ยะก็คือการหลั่งเลือดเนื้อ การเดินทางของพิณเปี๊ยะจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ครูบอยถือได้ว่าเป็นทั้งนักดนตรี และช่างชาวล้านนาคนต้นๆ ในยุคปัจจุบัน ที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่เสน่ห์ของพิณเปี๊ยะ ให้ทั้งเยาวชนและคนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การคงอยู่ของพิณเปี๊ยะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการให้ความสนใจ และความตั้งใจเล่นเครื่องดนตรีของตัวประชาชนเอง เพราะครูบอยเป็นเพียงผู้ที่นำมาเผยแพร่เท่านั้น อนาคตของพิณเปี๊ยะจะเป็นอย่างไร ดำเนินต่อไปหรือหลับใหลอีกครั้ง ทั้งนี้อยู่ที่ชาวล้านนาเป็นผู้เลือกเอง



บรรณานุกรม


กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ. (2552). พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย.

จาก http://proshot4u.blogspot.com/2009/08/blog-post_18.html, สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

เกษร สิทธิหนิ้ว. (2552). บุญมา ไชยมะโน ศิลปินพิณเปี๊ยะผู้เดินทางมาจากโลกเก่า.

จาก http://www.lannafolk.com/main/content.php?page=product&category=13&id=35,

สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

ชมรมดนตรีล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2553). พ่ออุ้ยแปง โนจา พ่อครูพิณเปี๊ยะ.

จาก http://www.pooyajaonai.com/board/viewthread.php?tid=227, สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2555.

วิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม. (31 มกราคม 2555). ศิลปินวงลายเมือง. สัมภาษณ์โดย กนกรัชต์ สายทอง.

ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่




รศณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์

            ดนตรี  เป็นผลิตผลของมนุษย์ที่ปรุงแต่งขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ คุณค่าสำคัญของดนตรีมิได้อยู่เพียงที่ตัวเนื้องานดนตรีเท่านั้น  แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณค่าของดนตรีเกิดจากการนำเนื้องานนั้นมาปรุงเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ – จิตใจและเชื่อมขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมของมนุษย์  ด้วยหลักการดังกล่าวนี้เองที่มนุษย์นำเอาดนตรีมาเป็นเครื่องบันเทิงใจและนำมาเพื่อการเฉลิมฉลอง  ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี   และสร้างสมานฉันท์ในกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม
            ที่วัดสันดอนมูล  (บ้านแคว)  ตำบลท่ากว้าง  อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ประกอบงานบุญใหญ่ขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มีนาคม 2548  งานนี้มีชื่อเรียกว่างานปอยหลวง งานลักษณะนี้จัดเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มีความสำคัญของสังคมล้านนาแถบเชียงใหม่ ลำปาง  ลำพูน แม่ฮ่องสอน  ฯลฯ  ดินแดนล้านนาบางท้องถิ่นอาจไม่ปรากฏประเพณีนี้ก็ได้  เช่น  แถบจังหวัดน่าน และเชียงรายบางส่วน  เป็นต้น  งานปอยหลวงนี้มิได้มีการจัดเหมือนอย่างงานเทศกาลประจำปี  การจัดงานปอยหลวงเกิดขึ้นเมื่อวัดใดวัดหนึ่งมีการก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ขึ้น  เช่น  โบสถ์  วิหาร ศาลาการเหรียญ  กุฏิ  ฯลฯ  เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว  คณะกรรมการวัด  คณะศรัทธา  และผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะปรึกษาหารือเตรียมการจัดงานขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองและถวายสิ่งก่อสร้างนั้นไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
            คำว่าปอยนี้  รากศัพท์เป็นภาษาพม่า  ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ  อธิบายว่า  พอย  (เมื่ออ่านให้ออกเสียงว่าปอย  ดังนั้นในบทความนี้จึงขอเลือกใช้ว่าปอยเท่านั้น)  คำว่า ปอย นี้มาจากคำว่าปะเว  เลือนมาจากภาษาบาลีว่าปเวณี  (ประเพณี)  เมื่อภาษาล้านนานำมาใช้  มีความหมายว่าเป็นการจัดงานในวาระเฉลิมฉลองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  คำปอยนี้ยังแยกย่อยได้เป็น  ปอยหลวง  ปอยน้อย  ปอยลูกแก้ว  ปอยเข้าสังฆ์  ปอยส่างลอง  ฯลฯ  ดังนั้นการที่วัดสันดอนมูล  (บ้านแคว)  จัดงานปอยหลวงขึ้นจึงมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเฉลิมฉลองพระเจดีย์ธาตุ  สมใจนึก 
            พระเจดีย์ธาตุสมใจนึก  เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะเจดีย์ธาตุทั่วไปของวัดต่างๆ  ของวัฒนธรรมล้านนา  องค์เจดีย์มีสีทองเหลืองอร่ามงดงามมาก  ฐานชั้นล่างมีรูปนักษัตรเรียงรายโดยรอบ  มีฉัตรสีทองขนาดใหญ่แบบเดียวกับฉัตรที่มีอยู่ตามมุมพระธาตุเจดีย์ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ องค์เจดีย์ธาตุสมใจนึกตั้งอยู่ด้านหลังของพระวิหารใหญ่  โดยรอบเจดีย์ปักตุง  หรือธงตะขาบ  ตุงนี้ปักอยู่ทั่วทั้งวัด  และตามถนนเป็นแนวยาวก่อนเข้าวัดสันดอนมูล  ด้านหน้าพระวิหารเบื้องขวา  มีการตั้งหอพระอุปคุต มีพิธีบูชาเพื่อคุ้มครองงานปอยหลวง
            หอพระอุปคุตนี้มีความน่าสนใจมาก   เพราะวัดที่จัดงานปอยหลวงต้องสร้างหอนี้ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชา  ส่วนสำคัญที่อยู่ในหอนี้คือก้อนหินขนาดเขื่อง  ชาวล้านนามีความเชื่อว่าพระอุปคุตนี้คือพระอรหันต์องค์หนึ่ง  ท่านอาศัยอยู่ในทะเล  บางท่านอธิบายว่าท่านอยู่ที่สะดือทะเล  พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์มากจริงๆ   ท่านเคยทำการปราบปรามพญามารมาก่อน  ก้อนหินขนาดเขื่องที่กล่าวถึงนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แทนพระอุปคุต  วิธีการอัญเชิญพระอุปคุตที่เป็นประเพณีต่อๆกันมาคือคณะศรัทธาต้องจัดขบวนแห่ไปยังแม่น้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้วัด  มีชายคนหนึ่งลงไปในแม่น้ำ  ดำงมเพื่อหาก้อนหิน  เมื่อได้ก้อนหินแล้วจึงชูขึ้นพร้อมกับร้องถามคนที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำว่าสิ่งที่เขางมขึ้นมาได้นั้น  เป็นพระอุปคุตใช่หรือไม่  คนบนฝั่งก็ร้องบอกว่าไม่ใช่  ไม่ใช่  แสดงว่าสิ่งที่งมขึ้นมาผิด  ชายคนนั้นต้องดำลงไปในแม่น้ำอีก  2 – 3 ครั้ง  จนกระทั่งคนบนฝั่งร้องบอกว่าใช่แล้ว  คนที่ลงไปอยู่ในแม่น้ำจึงนำก้อนหินซึ่งเป็นสัญลักษณ์สมมุติแทนพระอุปคุต  จัดวางบนพาน  แล้วเข้าขบวนแห่นำไปตั้งวางในหอที่เตรียมไว้ ตั้งเครื่องบูชา  ดอกไม้ ธูปเทียน ปักช่อ  ตั้งสัปทน  ระหว่างงานมีการจัดถวายสังเวยทุกเช้าทุกเพล เมื่อจัดงานปอยหลวงเสร็จสิ้นแล้วก็ทำการแห่อัญเชิญพระอุปคุตลงแม่น้ำตามเดิม
            ความยิ่งใหญ่ของงานปอยหลวงนี้  ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามิใช่มีบ่อยครั้งนัก  นานปีหรือหลายๆ ปี จึงมีสักครั้งหนึ่ง  ดังนั้นเมื่อมีการจัดงานปอยหลวงจึงมีการบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน บรรดาบุตรหลานของบ้านที่จัดครัวทานต่างก็มาชุมนุมกัน  บ้านที่จัดเครื่องครัวทานมีการตั้งเต้นท์  จัดโต๊ะอาหารต้อนรับแขกเหรื่อ ระดมเงินทำบุญ ครัวทานมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป  นอกจากบ้านที่เป็นส่วนของคณะศรัทธาแล้ว  บรรดาวัดต่างๆ โดยรอบ  ทั้งต่างตำบล  ต่างอำเภอ  ต่างก็จัดขบวนครัวทานสำหรับนำไปถวายและร่วมงานจำนวนมาก  เฉพาะวัดที่เรียกกันว่าหัววัดนั้น  ในงานปอยหลวงของวัดสันดอนมูลครั้งนี้มีจำนวนที่แจ้งล่วงหน้าถึง  251 หัววัด  นอกจากวัดต่างตำบลและอำเภอแล้ว วัดที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งคือจังหวัดลำพูนก็ยกขบวนครัวทาานร่วมด้วยอีกหลายวัด  เพราะวัดสันดอนมูลอยู่ในพื้นที่ชายแดนของอำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่มีเขตต่อเขตกับจังหวัดลำพูน ผมขออธิบายเกี่ยวกับคำว่าหัววัดเพิ่มเติมเพราะคำว่าหัววัดนี้ในวัฒนธรรมของชาวล้านนามีความผูกพันกับการบำรุงพระพุทธศาสนา  แต่ละวัดจึงมีคณะศรัทธารวมกลุ่มบุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกชนเพื่อทำหน้าที่ดูแลและอุปถัมภ์วัด  ถือเป็นความสำคัญอันดับแรกๆ  กรณีที่มีบุคคลที่เป็นคณะศรัทธาของวัดแห่งหนึ่งแล้ว  แต่มีความประสงค์จะทำบุญให้แก่วัดอื่นๆ ก็สามารถกระทำได้ไม่จำกัด  ในขณะที่วัดแต่ละแห่งก็สร้างเครือข่ายเป็นระบบ  เชื่อมโยงความสามัคคี  วัดแห่งใดแห่งหนึ่งเมื่อมีกิจกรรมงานบุญ  วัดในเครือข่ายจึงนำคณะศรัทธาของตนแห่แหนไปร่วมกิจกรรมนั้นๆ ไม่ให้ขาดหายจากกัน  เช่น  เมื่อวัดแห่งหนึ่งจัดงานปอยหลวงก็นำครัวทานไปร่วม  วัดที่จัดครัวทานนี้เรียกว่าหัววัด  งานปอยหลวงจึงมีหัววัดไปร่วมงานมากมายดังพบเห็นในงานปอยหลวงของวัดสันดอนมูล
            ที่บ้านของครอบครัวภักดีซึ่งเป็นคณะศรัทธาของวัดสันดอนมูลได้จัดขบวนครัวทานด้วย  ผมได้รับเชิญจากว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์  ภักดี ให้ไปร่วมงานครั้งนี้พร้อมกับคุณกิจชัย  ส่องเนตร ลักษณะของครัวทานที่ครอบครัวภักดีจัดนี้มีศัพท์ในท้องถิ่นเรียกว่าครัวทานหัวบ้าน โดยความหมายก็คือเป็นครัวทานของชาวบ้านที่ร่วมกันจัดขึ้นเฉพาะส่วน  นอกจากร่วมทำบุญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครัวทานแล้ว ผมได้รับประทานอาหารพื้นบ้านที่เจ้าภาพจัดเลี้ยง  ผมได้มีโอกาสศึกษาการตั้งเครื่องบูชาท้าวจตุโลกบาลที่บ้านงานแห่งนี้ด้วย  การตั้งเครื่องบูชานี้ชาวบ้านเรียกว่า  ต๊าวตังสี่   หรือท้าวทังสี่  (ไม่เรียกว่าท้าวทั้งสี่) ต๊าวตังสี่ท่านเป็นเทพรวม องค์ ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ตามทิศทั้งสี่ทิศรอบเขาพระสุเมรุ   ประกอบด้วย
ทิศเหนือ            มีท้าวเวสสุวรรณ  บางแห่งเรียกว่าท้าวกุเวรหรือไพสรพณ์  ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ทิศตะวันออก      มีท้าวธตรฐะ        ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ทิศใต้                มีท้าววิรุฬหกะ      ทำหน้าดูแลที่รักษา
ทิศตะวันตก       มีท้าววิรูปักขะ      ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวทังสี่มีพระอินทราธิราชเป็นประธาน  มีธรรมเนียมของชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า  เมื่อมีการจัดงานมงคลทั้งหลาย  ต้องทำพิธีขึ้นท้าวทังสี่ เสมอ เช่น  งานขึ้นบ้านใหม่  งานแต่งงาน  งานบวชนาค  งานปอย  ฯลฯ  การบูชานี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นการอัญเชิญท่านมาป้องกันภยันตรายทั้งปวง 
            การทำเครื่องสังเวยท้าวจตุโลกบาลที่บ้านภักดีจัดทำขึ้น  มีการตั้งเสาขึ้น 5  ต้น  ต้นกลางสูงกว่าต้นทั้ง 4  มีกระทงเครื่องบูชา  6  กระทง  ตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า  เครื่องบูชาจัดไว้อย่างละ4  หมายความว่าใน กระทง  ประกอบด้วย  ข้าว คำ  อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์  ชิ้น  แกง ที่ ดอกไม้ ธูป เทียน ชุด  ฯลฯ  มีช่อตกแต่ง ช่อนี้ก็คือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มีเสาไม้ขนาดเล็กสำหรับติดช่อ  แต่ละกระทงละมีช่อ อัน  ช่อแต่ละกระทงใช้สีแตกต่างกันไป คือ ช่อสีเขียวสำหรับพระอินทร์ ช่อสีขาวสำหรับท้าวธตรฐะ ช่อสีเหลืองสำหรับท้าววิรูฬหกะ    ช่อสีแดงสำหรับท้าววิรูปักขะ  ช่อสีดำ สำหรับท้าวกุเวร ส่วนนางธรณีใช้ช่อสีขาว เมื่อพิจารณาส่วนต่างๆ ที่ผมกล่าวมานี้  จำนวนเครื่องบูชาจึงปรากฏว่ามี กระทง ขอขยายอธิบายว่าเสา ต้นนั้น  ปักตั้งตามทิศทั้งสี่สำหรับบูชาท้าวจตุโลกบาล  เสากลางมีส่วนสูงกว่าเป็นเสาที่จัดตั้งเครื่องสำหรับบูชาพระอินทราชาธิราช  ตรงกลางกระทงทำฉัตรขนาดจิ๋วสีเขียวปักกลางกระทง  ที่ด้านล่างของเสากลางเป็นกระทงที่วางอยู่บนพื้นดินสำหรับบูชานางธรณี 
            วันสำคัญของงานปอยหลวงคือวันสุดท้ายของงาน  ตรงกับวันอาทิตย์ที่ มีนาคม 2548 ตอนกลางวันที่วัดมีการจัดอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่ไปร่วมงานอย่างทั่วถึง  ในความเป็นจริงแล้วมีอาหารเลี้ยงรับรองทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็นตลอดงาน  มุมหนึ่งของวัดมีการแสดงลิเก  วงดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดงมีเพียงระนาดเอก ราง  กลองและฉิ่ง  ร้องและดำเนินเรื่องอย่างลิเกภาคกลาง  มีความแตกต่างที่การเจรจาดำเนินเรื่องของตัวแสดงใช้ภาษาถิ่นที่เป็นคำเมือง  ให้สีสันและเสน่ห์พื้นบ้านเพราะสามารถสื่อกับชาวบ้านได้อย่างสนิทสนม  ช่วยให้ศิลปะการแสดงประเภทนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านอย่างมาก 
            ที่เต็นท์ด้านหน้าวิหารใหญ่  มีวงตึ่งโนงนั่งบรรเลงอยู่  มีฆ้อง ใบ แขวนกับคานไม้  มีตะหลดปด ใบ  กลองแอว ใบ  สว่าขนาดใหญ่ คู่  ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องดนตรีหลักที่พบเห็นทั่วไปในวัฒนธรรมดนตรีล้านนา  บางท้องถิ่นเรียกชื่อวงตึ่งโนงนี้แตกต่างกันไป  เช่นในจังหวัดลำปางเรียกว่าวงต๊กเส้ง  หากวิเคราะห์ตามการเรียกชื่อเป็นแนว  ทั้งตึ่งโนงและต๊กเส้ง  ใช้ชื่อเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นจากการบรรเลงเครื่องดนตรีในวง คือ  เสียงตึ่ง – กลองแอว  โนง – ฆ้อง  ต๊ก – ตะหลดปด เส้ง – สว่า  ชื่อของวงดนตรีทั้งสองมิได้สร้างความแปลกแยกของคนในสังคมล้านนา  เพราะความหมายที่ฝากแฝงไว้ในวงดนตรีชนิดนี้อยู่ที่การสื่อเสียงแสดงความชื่นชมยินดี  ปิติกับการประกอบบุญของชาวบ้าน วงตึ่งโนงของวัดสันดอนมูลประโคมเป็นระยะตลอดงาน  ทั้งกลางวันและกลางคืน  ไม่มีข้อจำกัดว่าเสียงประชาสัมพันธ์ของทางวัดกำลังดำเนินอยู่  หรือมีเสียงของวงดนตรีที่ทางวัดเปิดเทปเสียง  หรือเสียงลักษณะอื่นๆ ที่ดังแทรกเข้ามา  ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน
            ด้านหน้าของวัดสันดอนมูลมีผามตั้งวงปี่พาทย์พื้นบ้านล้านนาที่เรียกว่าวงป้าดฆ้อง ชาวบ้านออกเสียงว่าป้อดก๋อง  ผามอื่นๆ  ภายในวัดมีผามที่จัดสำหรับการแสดงพื้นบ้าน  ผามสำหรับวงดนตรีแนวดนตรีสากล  คำว่าผามนี้คือเวทีแสดงยกพื้น  ขนาดใหญ่ เล็ก  กว้าง  ยาว  ตามความเหมาะสมของการแสดง  วงป้าดฆ้องนี้เป็นวงดนตรีที่นิยมจัดหาไปบรรเลงในงานปอย  และงานประจำปีทั่วไปเช่นเดียวกับวงตึ่งโนง ในงานปอยหลวงนี้คณะป้าดฆ้องชื่อสหายศิลป์  เป็นคณะดนตรีจากบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหนองแฝก  ตำบลหนองแฝก  อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่  นั่งบรรเลงอยู่บนผาม  ในปี พ..นี้วงป้าดฆ้องซึ่งศิลปินเรียกตัวเองว่าคณะแห่พื้นเมืองประยุกต์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอแตกต่างไปจากเมื่อครั้งอดีต  เพราะการประสมวงดนตรีของวงป้าดฆ้อง  ประกอบด้วย  แน  ระนาดเอก  ระนาดทุ้ม  ฆ้องวงเมือง  เต่งทึง  สิ้ง  และสว่า  ขยายความเพิ่มเติมก็คือ  แนคือปี่  ฆ้องวงเมืองมีลักษณะอย่างฆ้องวงใหญ่ แต่ขอบฉัตรสั้นกว่า  เป็นฆ้องแบบฆ้องพม่าแต่ทำวงฆ้องอย่างฆ้องไทย  เต่งทึงมีลักษณะเช่นเดียวกับตะโพนมอญ  สิ้งคือฉิ่ง  ส่วนสว่าคือฉาบใหญ่  ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการนำเครื่องดนตรีสากลจำนวนมากเข้ามาประสมวงบรรเลง  เช่น  กลองชุด  อิเล็กโทน  กีตาร์  เครื่องเสียงขนาดใหญ่  เพลงที่นำมาบรรเลงมีทั้งเพลงพื้นบ้านและเพลงสากลทั่วไป  การฟังเพลงของวงป้าดฆ้องในงานมิได้ช่วยให้ได้รับอรรถรสบทเพลงใดๆ นัก เพราะวงป้าดฆ้องมิได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อการฟัง  แต่ทำหน้าที่ประโคมงานมากกว่า
            เวลาเย็นช่วงแดดร่มลมตก ร้านค้าที่ตั้งรายรอบวัดเริ่มมีผู้คนทยอยเข้าไปอุดหนุน เจ้าหน้าที่ของอบตและอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาประจำตามแนวถนนหน้าวัด  เพื่อช่วยกันจัดระเบียบของขบวนครัวทาน มีทางเข้าวัด ทาง ด้านหนึ่งที่มีวงป้าดฆ้องและวงตึ่งโนงกำหนดให้เป็นทางเข้า และเดินออกอีกด้านหนึ่ง ขบวนครัวทานของหัววัด ขบวนครัวทานของหัวบ้านแต่ละแห่งเริ่มทยอยเคลื่อนขบวนเข้าสู่บริเวณงาน  ครัวทานรูปทรงต่างๆ ทั้งแบบต้นเทียน แบบบังแสง หรือการตกแต่งเป็นช่อชั้น ตามที่เห็นว่างามได้สร้างความหลากหลายและสวยงาม  ตัวครัวทานนั้นติดหรือปักธนบัตรราคาต่างๆ เหมือนกองผ้าป่า มีความแตกต่างที่การตกแต่งรูปทรง  ขบวนครัวทานบางขบวนสั้นๆ เรียบง่าย มีผู้ชายสูงอายุแต่งกายเรียบร้อย  บางคนแต่งชุดขาว  ถือพานนำ  บางขบวนมีวงกลองยาวที่ชาวบ้านเรียกว่าวงกลองสิ้งหม้องตีนำขบวน พร้อมๆ กับการรำหน้าขบวน  บางขบวนมีวงกลองมองเซิง  อย่างครัวทานของครอบครัวภักดี  ก่อนออกจากบ้านงาน  มีการเชิญครัวทาน จัดวางตำแหน่งคนถือจตุปัจจัย  และเครื่องบูชา  มีพระสงฆ์  จากขบวนวัดล่ามช้างมาสมทบ  วงกลองมองเซิงประกอบด้วยกลองมองเซิง  ฆ้องชุด  และฆ้องเดี่ยว  สว่า ประโคมสักช่วงระยะหนึ่ง  เมื่อได้เวลาจึงเคลื่อนออกจากบ้าน  เคลื่อนไปยังวัดสันดอนมูล  ได้บรรยากาศมากและเป็นหนึ่งในขบวนแห่ที่ยังคงความเป็นศิลปะพื้นบ้านไว้อย่างสมบูรณ์  เพราะไม่มีเครื่องดนตรีนอกวัฒนธรรมเจือเข้าไปเหมือนกับขบวนอื่นๆ อีกหลายขบวน
            ชาวบ้านอธิบายให้ฟังว่าในสมัยก่อนนั้นเมื่อทราบว่าจะมีงานปอยหลวง  ตามวัด  หรือตามบ้านที่สามารถรวบรวมหญิงสาวได้  จะมีการฝึกซ้อมการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนแห่นำขบวนครัวทาน  มีวงตึ่งโน่งบรรเลงนำ  ขบวนครัวทานจากหัววัดหลายวัดมีคณะศรัทธาจำนวนมากแห่แหนกัน  มีรถบรรทุกเครื่องเสียงขนาดใหญ่  เสียงกระหึ่มดังผสมกับเสียงร้องเพลงสมัยนิยม  หนุ่มๆ สาวๆ ร้องรำหน้าขบวนอย่างสนุกสนาน  ทยอยเข้างานตั้งแต่ยามเย็นไปจนค่ำ  ยิ่งค่ำยิ่งมืดเสียงอึกทึกยิ่งดังและดังจนไม่สามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง  เพราะจำนวนเครื่องเสียงมีหลายสิบคันรถ  บางขบวนตกแต่งแสงสีเจิดจ้า  ไฟหมุนไฟกระพริบแบบดิสโก้เธ็ค  ช่วงนี้เสียงประโคมของวงตึ่งโนง  วงกลองมองเซิง  วงกลองสิ้งหม้องลดหายและถูกกลืนไปในเสียงของเทคโนโลยีสมัยใหม่  ยกเว้นวงป้าดฆ้องคณะสหายศิลป์ที่ยังมีความดังสามารถสู้กับเสียงจากขบวนศรัทธาครัวทานหัววัดได้  เพราะมีเครื่องดนตรีไฟฟ้าและเครื่องไฟฟ้าที่เสมอกัน
            พิธีการสำคัญของงานปอยหลวงอยู่ที่คณะศรัทธาของหัววัดและคณะศรัทธาของหัวบ้านนำครัวทานและจตุปัจจัยไปถวายพระสงฆ์ที่ทางวัดจัดเต็นท์รอรับไว้  มีการถวายทาน  พระให้ศีลให้พร เสร็จก็ถือเป็นการเสร็จกิจกรรมครัวทาน  ส่วนขบวนยังคงอยู่หรือเดินทางกลับก็ได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ประโคมร่วมงาน  มีขบวนครัวทานของหัววัด  251  หัววัด  และจากคณะศรัทธาหัวบ้านอีกไม่ทราบจำนวน  ดังนั้นตลอดช่วงต้นของค่ำคืนของงานบุญจึงเต็มไปด้วยขบวนครัวทานที่ทยอยเข้าสู่งานจนแน่นหนาไปด้วยญาติโยมพุทธศาสนิกชนและผู้ไปเที่ยวงาน 
            ดนตรีในงานปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล  (บ้านแคว)  ครั้งนี้  เสียงประโคมจากวงดนตรีได้ทำหน้าที่เป็นสื่อให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความรื่นรมย์ในการบุญ  บทบาทหน้าที่ของดนตรีแสดงออกตามช่วงเวลาของกิจกรรม  โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นดนตรีประโคมงาน  อรรถรสที่สัมผัสได้คือ  วงตึ่งโนงที่ประโคมในช่วงเช้าไปจรดบ่ายจนเมื่อช่วงหลังของยามบ่ายจึงมีขบวนครัวทานจากหัววัดอื่นๆ ที่นำเสียงเพลงจากเครื่องเสียงมาเปิดกลบเสียงวงตึ่งโนง  วงดนตรีที่ให้อรรถสของเสียงอีกวงหนึ่งคือวงกลองมองเซิงที่บรรเลงนำขบวนครัวทานจากบ้านไปสู่บริเวณงาน  ระหว่างทางไม่มีเสียงอื่นแทรกจึงทำให้ทั่วท้องถนนที่ปกครึ้มไปด้วยสวนลำไยซึ่งกำลังออกดอกสะพรั่ง  วงกลองมองเซิงจึงสร้างความงามของเสียง  เสริมสร้างเสน่ห์ทางศิลปะดนตรีล้านนาจนยากต่อการลบลืม  จนอยากกู่บอกชาวล้านนาว่านี่คือคุณค่าแท้จริงของดนตรีล้านนา.

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เริ่มต้นออกเดินทาง

สวัสดีค่ะ เคยคิดไว้นานแล้วว่าอยากมีบล็อกเป็นของตัวเอง เอาไว้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไว้เล่าเรื่องราว และแชร์ให้ทุกๆคนได้เข้ามาอ่านกัน วันนี้ตัวเองก็ได้มีโอกาสทำซักที เนื่องจากช่วงนี้อะไรๆก็เริ่มเข้าทีเข้าทางแล้ว ...เอาเป็นว่า ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยนะคะ ^^....